ความเป็นมา
เป็นสัตว์ปีกชนิดนี้ เวลาขันเสียงดี ทำให้มนุษย์เราหลงใหล จับเอามาเลี้ยงเพื่อฟังเสียงขัน ความดีของเสียงขันและอีกอย่างผู้เลี้ยงจะให้ความสำคัญกับนกชนิดนี้เป็นพิเศษ เป็นสัตว์ที่สามารถบันดาลคุณโทษได้ หากบ้านใดที่มีนกดีจะมีความสุข และจะนำโชคลาภมาสู่ครอบครัวผู้เลี้ยงได้ จนมีผู้นิยมมาเลี้ยงกันมาก จนถึงปัจจุบันด้วยหลาย ๆ เหตุ ต่อมาประชาชนชาวอำเภอจะนะเป็นส่วนใหญ่ได้ออกเดินทางรอนแรมกันไปจับนกจากป่าหลายจังหวัด เช่น จ.ตรัง จ.กระบี่ จ.ระนอง จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี จ.กาญจนบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.ลพบุรี จ.นครสวรรค์ จ.กำแพงเพชร จากป่าต่าง ๆ กลับมาในพื้นที่อำเภอจะนะ เพื่อซื้อขายกันในราคาตั้งแต่ 300-1,500 บาท เนื่องจากมีคนนิยมเลี้ยงกันมาก จึงทำให้นกเขาชวาเสียงดีในป่าประเทศไทยเริ่มหมดไป เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2498 ประชาชนชาวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาและจังหวัดอื่น ๆ ได้ริเริ่มทดลองการผสมพันธุ์นกเขาเล็กสยามกันขึ้น ซึ่งในจำนวนผู้ผสมทั้งหมด มีคุณปิ่น จินตนา ชาวอำเภอจะนะ เป็นผู้ประสบความสำเร็จที่ผสมนกให้ขันเสียงดีขึ้นเป็นคนแรกและจำหน่ายลูกนกผสม ด้วยเหตุนี้ในเวลาต่อมาข้าพเจ้าถือว่า อาจารย์ปิ่น จินตนา เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าหนึ่งในวงการผสมนก สำหรับบุคคลที่ริเริ่มการผสมพันธุ์นกเขาสยามรุ่นแรกในพื้นที่ จ.สงขลา มีด้วยกัน 7 คน และมีสกุลนก 7 สกุล (สายพันธุ์) จนถึงปัจจุบันซึ่งข้าพเจ้าถือว่าบุคคลทั้ง 7 เป็นอาจารย์ และให้คำแนะนำ ทำให้เกิด "แอทองฟาร์ม" และได้รับมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสัตว์ปีก สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เชียงใหม่ จึงขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมกันทำให้เกิดนกเขาเล็กสยามขึ้นเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เป็นสมบัติของชาติในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังมีรายชื่อดังนี้ - คุณปิ่น จินตนา ผสมนกชื่อ สะอะ - คุณครูปิยะ เฑียรกาญจน์ ผสมนกชื่อ ปลายดาว - คุณหะยีหวัง มะประสิทธิ์ ผสมนกชื่อ ตูกาตือกู - คุณหะยีหมัด ตลิ่งชัน ผสมนกชื่อ เสียงใหญ่ - คุณอนันต์ ธรรมชาติ ผสมนกชื่อ ตาหลง - คุณแบมะ นาประดู่ ผสมนกชื่อ นาประดู่ - คุณยงยุทธ จิระนคร ผสมนกชื่อ ลูกช้าง
นกเขาชวา แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ เสียงใหญ่ เสียงกลาง เสียงเล็ก ข้อดี ของเสียงนก 3 ประเภทนี้ แบ่งออกได้เป็น 4 อย่าง คือ
- ต้นเสียง คือ คำหน้า....วาว...กราว...เกลียว
- น้ำเสียง คือ มีน้ำเสียงหวาน...กังวาน...น้ำเสียงมันฯ...
- ทาง-จังหวะ คือ สองจังหวะ...สามจังหวะ...สี่จังหวะ...ห้าจังหวะ ปลายเสียง คือ คำสุดท้ายของเสียงกันแต่ละคำ...ว่า หนัก...หนา...ยาว...สูงหรือต่ำ
หลักการผสมพันธุ์นกเขาชวาให้ได้นกดีนั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้คือ ต้นสกุล คือ สกุลเดิมที่ดี เช่น พ่อพันธุ์เสียงใหญ่กลาง หรือเล็กต้องจำให้ได้แม่นยำเช่นเดียวกับแม่พันธุ์ รูปร่าง คือ หมายถึงรูปร่างลักษณะของนกที่จะเอาไปทำพันธุ์ ต้องเป็นนกที่มีรูปร่างดี สวยงาม สมบูรณ์ - น้ำเสียง-ทาง-จังหวะ ที่ต้องการ - น้ำเสียง หมายถึง น้ำเสียงที่ดี - ทาง หมายถึง ความช้า ที่มีลีลาการขัน สวยงามมีระเบียบ - จังหวะ หมายถึง สองจังหวะ สามจังหวะ สี่จังหวะ ห้าจังหวะ
หากท่านทำได้ดังกล่าวแล้ว ท่านจะประสพความสำเร็จในการเล่นนก และผสมพันธุ์นกเขาเล็กสยามเป็นอย่างดี นี่เป็นอีกภาพมองหนึ่งที่เข้าถึงความเป็นคนจะนะ ที่เลี้ยงนกเขากันอย่างจริงจัง ทุกวันนี้ พูดถึงจะนะจึงต้องพูดถึงนกเขา เป็นของคู่กัน
กติกาการแข่งขันนกเขาชวา
1. การแข่งขันนกเขาชวาเสียง กำหนดให้ใช้เวลาในการแข่งขันไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 – 11.00 น. แบ่งออกเป็น 2 ยก ยกละ 90 นาที ตามเวลาดังนี้
1. ยกที่ 1 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 10.00 น.
2. ยกที่ 2 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 11.30 น.
2. ในการแข่งขัน ให้จัดกิจกรรมการลงทำการตัดสินในแต่ละประเภทเสียงให้เหมาะสมกับปริมาณนกที่เข้าแข่งขัน แต่ไม่น้อยกว่าประเภทเสียงละ 3 ท่าน
3. การจัดกรรมการลงทำการตัดสิน ให้ใช้วิธีจับสลากหากจับได้ประเภทเสียงใดให้ลงทำการตัดสินประเภทเสียงนั้น (หากขอกรรมการจากสมาคมให้จับสลากกรรมการและประธาน 2 ครั้ง)
4. เมื่อเริ่มการแข่งขัน ให้กรรมการเดินฟังพิจารณานกให้ทั่วสนาม เพื่อพิจารณานกที่เข้าการแข่งขันว่าถูกต้องตามประเภทเสียงหรือไม่
5. นกที่ถือว่าขันเข้ากติกาจะต้องขันจับตับสั้น จับตับยาว หรือตับดิ่ง และต้องเปิดปลายนิยมไม่น้อยกว่า 50% จึงจะพิจารณาความดีอื่น และได้รับการดพิจารณาจัดลำดับตามกติกา ทั้งนี้นกที่ขันเข้ากติกาไม่เป็นเครื่องประกันว่านกจะต้องได้รับรางวัลเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพเสียงและความดีของนกนั้นๆ เปรียบเทียบกับนกอื่นๆ ที่ขันเข้ากติกาที่เข้าแข่งขันทั้งหมดในวันนั้น
6. พิจารณานกที่ขันผิดประเภทเสียง โดยพิจารณาพื้นเสียงจากคำขัน ตลอดทั้งคำขันเป็นหลัก มิให้เจาะจงเฉพาะพยางค์หน้า พยางค์กลาง หรือพยางค์ปลาย แต่ให้ถือคำขันของนกที่จับตับเป็นหลักในการพิจารณา
7. นกที่ขันโกรกแกมโยนในยกที่ 1 (ขันไม่เข้ากติกา) และยังไม่ได้รับการพิจารณาไม่ถือว่าผิดประเภทเสียง หากในยกที่ 2 ขันจับตับ และผิดประเภทเสียง ให้ถือว่าเป็นข้อดีข้อด้อยของนก ไม่ถือว่าผิดประเภทเสียง
8. นกที่ขันจับตับยาวในยกที่ 1 ไม่ผิดประเภทเสียง และกรรมการได้พิจารณาให้คะแนนผ่านแล้ว ถ้าปรากฏว่าในยกที่ 2 ขันผิดประเภทเสียงให้ถือว่าเป็นข้อดีข้อด้อยของนก ไม่ถือว่าผิดประเภทเสียง
9. นกที่ขันผิดประเภทเสียง ให้อยู่ในดุลยพินิจของกรรมการตัดสิน ในการพิจารณาโดยถือเสียงข้างมากเป็นหลัก หากมีเสียงเท่ากันให้ประธานเสียงเป็นผู้ชี้ขาด
10. เมื่อกรรมการให้ลงมตินกที่ขันผิดประเภทเสียงแล้ว แจ้งให้เจ้าของนกทราบเพื่อทำการย้ายนกไปแข่งขันในประเภทเสียงที่ถูกต้อง และประธานเสียงเดิมที่นกแข่งขันครั้งแรก จะต้องส่งผลคะแนนเฉลี่ยให้ประธานเสียงที่รับนกไปพิจารณาตามหลักเกณฑ์ต่อไป และการดำเนินการสำหรับนกที่ขันผิดประเภทเสียง กรรมการต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 09.00 น.
11. เมื่อกรรมการลงมติชี้ขาดนกที่ขันผิดประเภทเสียง และปักธงแสดงให้เจ้าของนกได้ทราบแล้ว แต่เจ้าของนกสมัครใจไม่ย้ายนกไปแข่งขันประเภทเสียงที่ถูกต้อง ก็สามารถกระทำได้ แต่ทั้งนี้นกนั้นจะไม่ได้รับการพิจารณาจัดอันดับในการแข่งขันครั้งนั้น
12. เมื่อเริ่มทำการแข่งขันให้กรรมการเดินพิจารณาให้ทั่วทั้งสนาม โดยพิจารณานกที่ขันจับตับยาวเป็นหลัก และบันทึกขำขันของนกที่ขันเข้ากติกาในแบบฟอร์มที่กำหนด โดยพิจารณานกที่เข้าแข่งขันอย่างละเอียดรอบคอบ แบ่งนกออกเป็นกลุ่มตามลำดับความดีตามเกณฑ์ที่สมาคมฯ กำหนด และลำดับนกที่ขันมีความดี เด่นชัด ที่เข้าร่วมการแข่งขันในวันนั้นๆ
13. กรรมการต้องพิจารณานก จากความดีของนก ตามหลักเกณฑ์ของสมาคมฯ เป็นหลัก ไม่ถือเอาราคาของนก เจ้าของนก หรือผลการแข่งขันครั้งที่ผ่านมา มาพิจารณาให้ถือเอาความดีของนกในวันที่แข่งขันวันนั้นๆ มาพิจารณาเท่านั้น
14. ขนาดของเสียงขันไม่มีผลต่อการพิจารณา เมื่อนกแข่งขันประเภทเสียงเดียวกัน ให้ถือว่านกนั้นๆ มีขนาดเสียงเท่ากัน และพิจารณาความดี ความไพเราะของนกเป็นหลัก
15. เมื่อหมดเวลาการแข่งขันในยกที่ 1 ให้กรรมการแต่ละท่านส่งผลคะแนนเสียงของนกที่ขันเข้ากติกาที่ได้ประเมิน และบันทึกไว้ให้แก่ประธานเสียงเพื่อรวบรวมข้อมูลในการพิจารณาจัดอันดับต่อไป โดยให้กรรมการตัดสินนำส่งผลการตัดสินให้กับประธานครั้งละ 1 คน
16. เมื่อประธานเสียงได้รับผลการประเมินจากกรรมการในยกที่ 1 ครบทุกท่านแล้ว ให้จัดกลุ่มตามจำนวนเสียง ที่กรรมการทั้งหมดได้ประเมินและประมวลผล เพื่อส่งผลให้กรรมการแต่ละท่านใช้เป็นข้อมูล ในการพิจารณาจัดลำดับในยกที่ 2 ต่อไป
17. ให้กรรมการแต่ละท่าน ใช้ข้อมูลที่ได้รับมาจากประธานเสียง ที่ได้รวบรวมจากกรรมการที่ร่วมทำการตัดสินทั้งหมด มาประกอบการพิจารณาจัดลำดับนกในยกที่ 2 ต่อไป
18. เมื่อหมดเวลาการแข่งขัน ให้กรรมการมทั้งหมดประมวลผลคะแนนจากข้อมูลที่ประธานเสียงรวบรวมจากกรรมการที่ร่วมทำการตัดสินทั้งหมด มาร่วมพิจารณาจัดอันดับนก โดยวิธีการโหวตเสียง ใช้เสียงข้างมากประกอบกับผลการพิจารณาคะแนนเสียงที่รวบรวมได้เป็นหลักในการพิจารณา
19. ให้กรรมการพิจารณาจัดอันดับนกที่เข้ากติกา มีความไพเราะดีกว่านกทั่วไปที่มีปริมาณการขันสม่ำเสมอทั้ง 2 ยก เป็นอันดับแรก แล้วจึงจัดอันดับนกที่มีความดีลดหลั่นลงมาตามลำดับ จนครบจำนวนรางวัลในแต่ละประเภทเสียงของการแข่งขัน
20. ในการโหวตลงคะแนนเสียง หากมีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานเสียงเป็นผู้ชี้ขาด
สถานที่จัดการแข่งขันนกเขาชวาเสียง ในตำบล ตลิ่งชัน
- สนามแข่งขันนกเขาชวาเสียงหวังดี
- สนามแข่งขันนกเขาชวาเสียงบ้านนาตีน